กฎหมายข้อบังคับเกี่ยวกับการตั้งชื่อ-ชื่อสกุล
ตาม พ.ร.บ. ชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 บุคคลสัญชาติไทยต้องมีชื่อตัวและชื่อสกุล และจะมีชื่อรองด้วยก็ได้
* ชื่อตัว คือ ชื่อประจำตัวบุคคล
* ชื่อรอง คือ ชื่อซึ่งประกอบถัดจากชื่อตัว
* ชื่อสกุล คือ ชื่อประจำวงศ์สกุล
หลักเกณฑ์การตั้งชื่อตัวและชื่อรอง
-ต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย หรือพระนามของพระราชินี หรือราชทินนาม
-ต้องไม่เป็นคำหยาบหรือมีความหมายหยาบคาย
-ต้องไม่มีเจตนาในทางทุจริต
-ผู้ได้รับหรือเคยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ โดยมิได้ถูกถอด จะใช้ราชทินนามตามบรรดาศักดิ์เป็นชื่อตัวจริง ชื่อรองก็ได้
หลักเกณฑ์การเปลี่ยนชื่อตัวและชื่อรอง
- มีเหตุผลไม่เป็นไปเพื่อการทุจริต ถูกต้องตามหลักการตั้งชื่อบุคคล ชื่อเปลี่ยนเหมาะสม ไม่ยาวเกินไป ไม่เป็นภาษาต่างประเทศ ผู้ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องให้บิดามารดา ผู้ปกครอง ให้ความยินยอม
- วิธีการ คือ ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนท้องที่ นายทะเบียนพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติชื่อบุคคล ก็จะอนุญาตและออกหนังสือแสดงการเปลี่ยนชื่อให้
หลักเกณฑ์การตั้งชื่อสกุล
- ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายพระปรมาภิไธย พระนามพระราชินี
- ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้ตล้ายพระราชทินนาม เว้นแต่ราชทินนามของตน ของบุพการีของผู้สืบสันดาน
- ไม่ซ้ำกับชื่อสกุลพระราชทาน หรือชื่อสกุลที่จดทะเบียนไว้แล้ว
- ไม่มีความหมายหยาบคาย ไม่ยาวเกิน 10 พยัญชนะ เว้นแต่ใช้ราชทินนามเป็นชื่อสกุล
หลักเกณฑ์การขอร่วมชื่อสกุล
- ผู้เป็นเจ้าของชื่อสกุลเท่านั้นมีสิทธิ์ขอให้มีการร่วมใช้ชื่อสกุลได้ ทายาทไม่มีสิทธิ์
- เจ้าของชื่อสกุลคนแรกยื่นคำร้องพร้อมหนังสือสำคัญการจดทะเบียนตั้งชื่อสกุลและหนังสือยินยอม
- การอนุญาตจะสมบูรณ์เมื่อนายทะเบียนออกหนังสือสำคัญแสดงการอนุญาตแล้ว
เอกสารที่ใช้
1. สำเนาทะเบียนบ้าน
2. บัตรประจำตัวประชาชน
3. ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว (กรณีบุคคลต่างด้าว)
ขั้นตอนการดำเนินงาน
* ผู้ยื่นคำขอตามแบบ ช1 ต่อนายทะเบียนท้องที่ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
* นายทะเบียนท้องที่ตรวจสอบคำขอกับทะเบียนบ้าน และชื่อที่ขอเปลี่ยนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์
* กรณีอนุญาตสำหรับบุคคลสัญชาติไทย นายทะเบียนท้องที่จะออกหนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อตัวชื่อรอง (แบบช.3) ให้เป็นหลักฐาน
* กรณีบุคคลต่างด้าว นายทะเบียนท้องที่จะออกหนังสือรับรองการเปลี่ยนชื่อตัวของคนต่างด้าวให้ เพื่อประกอบหลักฐานการแปลงชาติ หรือคืนสัญชาติเป็นไทยเมื่อได้รับอนุญาตแล้ว นายทะเบียนท้องที่ จึงออกหนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อรองให้เป็นหลักฐาน และเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 25 บาท
* เมื่อได้รับหนังสือสำคัญแล้ว ให้ผู้ขอนำหนังสือดังกล่าวไปขอแก้ไขรายการในทะเบียนบ้านและหลักฐานอื่น ๆ ให้ถูกต้อง และขอเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนด้วย
สถานที่ติดต่อ / ค่าธรรมเนียม
ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขต
ที่มา: กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย